โรคเชื้อราที่เล็บ

โดยแพทย์ผู้เชี่ยาชาญมีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี ในการรักษาโรคผิวหนัง โรคภูมิแพ้ผิวหนัง ที่เน้นความโดดเด่นในการ
รักษาโรคผม เล็บ ผิวหนัง โดยเฉพาะ

โรคเชื้อราที่เล็บ

หมายถึง การติดเชื้อรา ไม่ว่าจะเป็นจากราที่เป็นสายรา หรือ เชื้อราในรูปของยีสต์ (ราที่มีลักษณะเป็นเซลล์กลม) ที่บริเวณเล็บ โดยในประเทศไทยชนิดของเชื้อราที่พบบ่อยๆ คือ เชื้อกลากแท้(dermatophytes) เชื้อกลากเทียม (non-dermatophytes) และยีสต์(yeasts) โดยเฉพาะเชื้อแคนดิดา (Candida)

โรคเชื้อราที่เล็บโดยส่วนใหญ่ มักจะเกิดจากเชื้อกลากแท้ หรือ เชื้อกลากเทียม บ่อยครั้งผู้ป่วยไม่ทันได้สังเกต เนื่องจากโรคไม่มีอาการใดๆ และมีการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ทั้งจากลักษณะรูปเล็บที่ผิดปกติไป อีกทั้งยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อ ทำให้เชื้อลามไปตามที่ต่างๆ โดยความผิดปกติที่เล็บนั้น มักพบที่เล็บเท้าได้บ่อยกว่าเล็บมือ

บางรายอาจมีการลามไปติดเชื้อราที่บริเวณผิวหนังร่วมด้วย เช่น เชื้อราที่เท้า บางกรณีอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาหลังการติดเชื้อรา เช่น เล็บขบ เล็บขบอักเสบติดเชื้อ หรือ เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน

ลักษณะที่สังเกตได้ของโรคเชื้อราที่เล็บ

ลักษณะที่สังเกตได้ของโรคเชื้อราที่เล็บนั้น อาจพบลักษณะเล็บหนาตัวขึ้น มีขุยหนาใต้เล็บ มีสีเล็บที่เปลี่ยนแปลงไป หรือเล็บแยกตัวออกมาจากฐานเล็บและเห็นเป็นโพรงหรือช่องว่างใต้เล็บ โดยจำนวนของเล็บที่มีการเปลี่ยนแปลงจะพบไม่มาก มีเล็บที่เป็นโรคประมาณ 1 – 3 เล็บ โรคที่มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกับการติดเชื้อราที่เล็บ แต่ไม่ได้เกิดจากเชื้อราแต่อย่างใด คือโรคสะเก็ดเงินที่เล็บ ดังนั้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการวินิจฉัยโรคเชื้อราที่เล็บ เพราะเล็บที่มีความผิดปกติอาจไม่ได้เกิดจากเชื้อราเสมอไป การยืนยันการวินิจฉัยจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากเนื่องจากการรักษาเชื้อราที่เล็บต้องใช้ระยะเวลานาน และตัวยาอาจมีปฏิกิริยากับยาอื่นๆ ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องรับประทานยาโดยไม่มีความจำเป็น จนเกิดผลข้างเคียงจากยาตามมาได้

การวินิจฉัยโรคเชื้อราที่เล็บนั้น

จะต้องอาศัยลักษณะของเล็บที่มีความผิดปกติดังที่ได้กล่าวแล้ว ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การขูดขุยจากเล็บไปตรวจหาเชื้อรา การเพาะเชื้อรา และจำแนกเชื้อราก่อโรคที่เล็บ (เนื่องจากเชื้อกลากเทียมมักเป็นเชื้อที่ดื้อต่อยารับประทานรักษาเชื้อรา รักษาได้ยากกว่าเชื้อกลากมาก และเชื้อกลากเทียมสามารถพบในสิ่งแวดล้อม บางครั้งพบเป็น secondary invaders) ดังนั้นอาจมีบางกรณีที่แพทย์จำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการมากกว่าหนึ่งครั้งเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
การขูดขุยจากเล็บไปตรวจหาเชื้อรา จะทำโดยการตัดเล็บส่วนนอกทิ้ง และนำขุยที่ได้จากส่วนเล็บซึ่งเป็นโรคมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ วิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐาน ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดหรือเลือดออกแต่อย่างใด
การรักษาเชื้อราที่เล็บต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนหรืออาจเป็นปี จัดเป็นโรคที่รักษาได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ โดยก่อนเริ่มการรักษาโรคเชื้อราที่เล็บ แพทย์จะตรวจทางห้องปฏิบัติการก่อนเพื่อยืนยันการวินิจฉัย และประเมินปัจจัยอื่น ๆ เช่น โรคประจำตัว ยาที่รับประทานประจำ เพื่อเลือกการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย

การรักษาโรคเชื้อราที่เล็บมีหลายวิธี

ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัวก็เป็นสิ่งสำคัญ

โรคเชื้อราที่เล็บเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากเชื้อราแต่การติดต่อก็ไม่สามารถติดกันง่าย เชื้อราที่พบเกิดโรคนั้นส่วนหนึ่งติดต่อด้วยกันจากมนุษย์ สัตว์เลี้ยง และเชื้อราหลาย ๆ ชนิดก็อยู่ในสิ่งแวดล้อม หรือดิน ต้นไม้ และการรักษาต้องใช้ระยะเวลานาน และยังมีโอกาสเกิดโรคซ้ำได้

การดูแลสุขภาพเท้า การตัดเล็บเท้าอย่างถูกวิธี ก็มีความสำคัญ ไม่ควรเดินเท้าเปล่าโดยเฉพาะในที่สาธารณะ ไม่ควรใช้ของร่วมกัน ไม่ควรใช้วิธีตัดเซาะหรือเลาะเล็มส่วนด้านข้างของเล็บ หรือให้ช่างทาเล็บตัดเล็บอย่างไม่ถูกวิธี เพราะอาจทำให้เกิดเล็บขบ ติดเชื้อแทรกซ้อนเพิ่มมาอีก ควรเลือกชนิดรองเท้าที่เหมาะสม ไม่ควรรัดแน่น อับชื้น และต้องดูแลสุขภาพเท้าอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานหรือในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการมองเห็น การเคลื่อนไหว การมีความผิดปกติของโครงสร้างเท้าร่วมด้วย